ศิลปินหญิงกับFeminist Art ในศิลปะตะวันตกคริสต์ศตวรรษที่20

ศิลปินหญิงกับFeminist Art
Categories:

โลกของศิลปะตะวันตกในอดีตถูกจำกัดไว้ด้วยมุมมองชายเป็นใหญ่ ทำให้มีเพียงศิลปินชายเท่านั้นที่จะสามารถประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับในวงการศิลปะ ปิดกั้นโอกาสของศิลปินหญิงที่มีความสามารถไม่ต่างจากศิลปินชายด้วยบทบาทของผู้หญิงในสังคมที่กำหนดขึ้นโดยผู้ชายว่าเป็นเพียงผู้ให้กำเนิดและผู้ดูแล ทำให้โรงเรียนศิลปะไม่มีพื้นที่ให้กับผู้หญิง สถานภาพทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ก่อให้เกิดเป็นขบวนการเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกับเพศชาย

ขบวนการสตรีนิยม (Feminism) การรวมตัวเพื่อต่อสู้กับวงการศิลปะตะวันตกที่มีผู้ชายครอบงำ เริ่มเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1969 และเต็มที่ในปี ค.ศ. 1970 โดยพยายามที่จะปลดแอกอคติทางเพศให้หมดไปจากโลกของศิลปะที่มีความคิดแบบเก่า เพื่อให้ศิลปะมีความหลากหลายและทุกคนสามารถเข้าสู่โลกศิลปะได้

ศิลปินหญิงกับ Feminist Art

ในปี ค.ศ. 1971 Linda Nochlin นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันได้เขียนบทความ “Why have there been no great women artists?” (ทำไมถึงไม่มีศิลปินหญิงที่ยิ่งใหญ่) โดยพูดถึงประเด็นทางสังคมตั้งแต่อดีตที่ขัดขวางไม่ให้ศิลปินหญิงยิ่งใหญ่เทียบเท่าศิลปินชาย อาทิเช่น สังคมที่มีชายเป็นใหญ่ สถานภาพที่สังคมกำหนดให้ผู้หญิงต้องเป็นเพียงผู้ให้กำเนิดและผู้ดูแลสามี เป็นต้น ต่อมามีการจัดนิทรรศการ Women Artists: 1550-1950 ในปี 1976-1977 ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อจัดแสดงผลงานของศิลปินหญิงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-20 โดยมี Ann Sutherland Harris และ Linda Nochlin เป็นผู้คัดเลือกผลงาน นิทรรศการดังกล่าวจึงเป็นการพยายามรวบรวมผลงานของศิลปินหญิงทั้งในยุโรปและอเมริกาให้เป็นที่รู้จักถึงความสำเร็จของศิลปินที่ถูกละเลยเพราะเป็นผู้หญิง เพื่อเรียนรู้ว่าเพราะอะไรศิลปินดังกล่าวจึงหายาก และให้ศิลปินหญิงได้รับการยอมรับว่าสามารถทำงานที่ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน

ตัวอย่างผลงานศิลปะที่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการสตรีนิยม

  • Untitled (Your body is a battleground) (1989) ผลงานของ Barbara Kruge ศิลปินกราฟิกและช่างภาพ ผลงานชิ้นนี้เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่แสดงใบหน้าของผู้หญิง เป็นภาพขาวดำพร้อมตัวอักษรคำว่า Your body is a battleground (ร่างกายของคุณคือสมรภูมิ) ซึ่งเธอพยายามจะสื่อถึงการต่อสู้อย่างต่อเนื่องของผู้หญิงเพื่อที่จะเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ
  • ผลงาน Two Fried Eggs and a Kebab (1992) ของ Sarah Lucas ศิลปินชาวอังกฤษ ทำผลงานนี้ขึ้นเพื่อเป็นภาพเหมือนของตนเอง โดยเธอนำไข่ดาวและเคบับมาจัดวางบนโต๊ะเพื่อสื่อถึงหน้าอกและอวัยวะเพศของตัวเองเป็นการล้อเลียนภาพหญิงเปลือยในศิลปะชั้นสูงของตะวันตกที่วาดขึ้นเพื่อดึงดูดสายตาของผู้ชายในฐานะของวัตถุเพศด้วยงานแบบบ้านๆ

Feminist Art จึงเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของขบวนการสตรีนิยม หนึ่งในขบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างชายกับหญิง ซึ่งความไม่เท่าเทียมนี้อาจ มีต่อเนื่องไปอีกนานถ้าคนในสังคมยังไม่เปลี่ยนความคิดที่ยึดติดกับโครงสร้างอำนาจเก่าที่มีชายเป็นใหญ่